ฝันร้าย สัญญาณบอกปัญหาสุขภาพ

ฝันร้าย สัญญาณบอกปัญหาสุขภาพ การนอนหลับ ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่ร่างกายจะได้พักผ่อน และปล่อยวางจากเรื่องต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญมาทั้งวัน และสิ่งที่เคียงคู่กับการนอนหลับนั่นก็คือ “ความฝัน” หากฝันดีก็จะทำให้ยามตื่นนอนกลายเป็นเช้าที่แสนสดใส แต่ถ้าหากฝันร้ายอาจจะทำให้หลับต่อได้ยากขึ้น และยังสามารถส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ฝันร้ายยังสามารถบอกถึงปัญหาสุขภาพจิตของเราอีกได้ด้วย

เรื่องของฝันร้าย

ฝันร้าย (nightmare) เป็นภาวะที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้น เพราะทำให้เกิดการตอบสนองทางอารมณ์ในเชิงลบ ซึ่งเกิดในภาวะการนอนหลับในระยะ REM (rapid eye movement) เป็นช่วงที่กล้ามเนื้อสมองส่วนทาลามัส และซีรีบรัมที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของใบหน้า การหลั่งน้ำลาย การหายใจหยุดการทำงานลง โดยฝันร้ายมักจะมีภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน และเป็นเรื่องยาว ผลจากการฝันร้ายจะทำให้เกิดภาวะความกลัวอย่างรุนแรง หรือมีความวิตกกังวล สมาคมจิตแพทย์อเมริกาได้ให้คำจำกัดความและกำหนดการวินิจฉัยว่า ฝันร้ายมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ในวัยเด็ก 10 ขวบขึ้นไป แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ หรือทางสังคมมากนัก แต่หากฝันร้ายเกิดขึ้นบ่อย ๆ กับวัยผู้ใหญ่จะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพจิตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

สาเหตุของฝันร้าย

ร้อยละ 60 พบว่าสาเหตุของฝันร้ายมาจากความวิตกกังวล และความเครียด
การสูญเสียบุคคลที่รัก หรือเกิดความเจ็บปวด
ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ เป็นต้น
การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับ หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนเข้านอน เช่น อาหารประเภทเนื้อสัตว์ เป็นต้น
มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า วิตกกังวล

เมื่อฝันร้าย (ไม่) ได้กลายเป็นดี

ฝันร้าย อาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพ ดังนี้

โรควิตกกังวล ผู้ที่ป่วยเป็นโรควิตกกังวลมักจะเกิดอาการฝันซ้ำ ๆ ความฝันมีลักษณะยาว และละเอียด เนื้อเรื่องอาจจะเป็นเหตุการณ์เดิม ๆ หรืออาจเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์ในปัจจุบันก็ได้
โรคซึมเศร้า ผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามักจะฝันถึงสถานที่มืด ๆ น่ากลัว หรือฝันถึงคนตาย อาจปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ และอาจฝันเห็นหลาย ๆ เรื่องในคืนเดียวกัน
ภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) มักจะฝันถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยประสบพบเจอมา มักจะเป็นภาพฉายซ้ำ ๆ และมีจุดจบแบบเดิม บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน
โรคไบโพล่าร์ มักจะเป็นความฝันที่สดใส ละเอียด น่าจดจำ สามารถปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องยาว อาจเกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ หรือละครที่ดู

วิธีป้องกันการฝันร้าย

หลีกเลี่ยงคาเฟอีน นิโคติน และแอลกอฮอล์ เช่น กาแฟ ชา ช็อกโกแลต น้ำอัดลม เป็นต้น เพราะอาหารกลุ่มนี้จะมีส่วนผสมเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายตื่นตัว และนอนหลับได้ยากขึ้น
ทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น การพักผ่อนก่อนนอน อาบน้ำอุ่น หรือการอ่านหนังสือจะทำให้สามารถหลับได้ง่ายขึ้น
ควบคุมอุณหภูมิห้อง รักษาอุณหภูมิให้ไม่ร้อน หรือเย็นเกินไป เพราะอากาศที่ไม่สบายอาจรบกวนการนอนหลับได้
หลีกเลี่ยงการนอนบนเตียงหากยังไม่หลับ ควรหากิจกรรมอื่นทำก่อน เพราะหากนอนไม่หลับจะทำให้เกิดความวิตกกังวลจนยิ่งทำให้นอนไม่หลับ
พบแพทย์ เพื่อเข้ารับคำปรึกษาเกี่ยวกับปัญหาการนอนไม่หลับอย่างตรงจุด เพราะปัญหาการนอนไม่หลับนั้นสามารถรักษาให้หายได้