เพราะว่าอะไรถึงชอบดูดวงกัน นอกจากกินข้าว ทำงาน เดินห้าง ดูหนังเหมือนคนทั่วๆ ไป สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ ‘มูเตลู’ มักจะทำเป็นประจำ นั่นก็คือการ ‘ดูดวง’ ไม่ว่าจะเป็นรายวัน รายปักษ์ บางครั้งก็ใส่เสื้อ/ทาลิปสติกตามสีมงคล บางคืนก็ไปแวะไหว้ขอพรกับพระตีมูรติซะหน่อย
แต่ถ้าคนที่ไม่เชื่อในเรื่องนี้ ก็คงจะสงสัยว่าการดูดวงเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันมนุษย์ยังไง ทำไมคนถึงชอบแสวงหาคำทำนายชีวิตตัวเองกันนัก แล้วหลังจากรู้ดวงของตัวเองแล้ว พวกเขาจะมีชีวิตยังไงบ้าง? งั้นเรามาทำความเข้าใจฟังก์ชั่นของการดูดวง และความเห็นของคนทั่วไปที่ชื่นชอบการดูดวงไปพร้อมๆ กัน
“เราดูดวงเพราะเราหาที่พึ่งทางใจ อยากได้ความแน่นอนบนความไม่แน่นอน ซึ่งก็รู้ดีว่าสุดท้ายมันก็เป็นความแน่นอนที่ไม่จริง”
บนโลกที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ สามวันดี สี่วันไข้ วันนี้เจอหน้า วันพรุ่งอาจจะต้องไปงานศพ ทำให้มนุษย์มักแสวงหาอะไรบางอย่างมาอธิบายสิ่งที่พวกเขากำลังจะเผชิญ หรือใครสักคนที่ช่วยสานอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของพวกเขาเข้าด้วยกัน เพื่อดูว่าแต่ละช่วงเวลาของชีวิตจะส่งผลอย่างไรต่อกันและกันบ้าง โหราศาสตร์ (horoscope) จึงเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน เพื่อทำให้ผู้คนมีกรอบในการอธิบายสิ่งเหล่านั้น ผ่านการดูไพ่ทาโร่ ดูลายมือ ดูวันเกิด และอีกหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความชำนาญของพ่อหมอแม่หมอ
“เราชอบดูดวง เพราะมันทำให้รู้ว่าชีวิตจะมีเรื่องร้ายหรือดีเกิดขึ้น สมมติถ้าทำนายว่าจะมีเรื่องดี เราก็จะใช้ชีวิตแบบเต็มที่มากขึ้น ถึงมีเรื่องเศร้าบ้างก็ไม่ได้รู้สึกหวั่นอะไร เพราะเชื่อว่าเดี๋ยวมันจะดีขึ้นอยู่ดี”
“การดูดวงให้อารมณ์เหมือนเราอ่านนิยาย แต่แอบอ่านสปอยล์ก่อน เพื่อจะได้รู้ว่าควรอ่านต่อดีมั้ย อ่านต่อแล้วจะแฮปปี้มั้ย ถ้าไม่แฮปปี้ เราควรจะเลิกอ่านดีมั้ย เหมือนเราให้แม่หมอช่วยเลือกเส้นทางให้ แต่บางครั้งก็ดูเพราะอยากรู้สปอยล์อนาคตเฉยๆ ไม่ได้ต้องการไปแก้ไขหรือทำอะไร”
หากตัดเรื่องความงมงาย ไม่งมงายออกไป โหราศาสตร์และการดูดวงก็เหมือนเป็นกลไกในการรับมือกับความเครียดและ ‘ความไม่แน่นอน’ ของชีวิต (uncertainty of life) เพราะความไม่แน่นอน ทำให้ผู้คนเกิดความกังวลที่จะใช้ชีวิต มีผลการศึกษาหนึ่งพบว่า การที่เราไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับชีวิตเราบ้าง ทำให้รู้สึกเครียดมากกว่าการที่รู้ว่ากำลังจะมีสิ่งแย่ๆ เกิดขึ้นเสียอีก
ซึ่งคอลัมน์ดูดวงถูกตีพิมพ์ครั้งแรกบนหนังสือพิมพ์ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป หรือที่เรียกว่า The Great Depression ปี ค.ศ.1930 และถูกตีพิมพ์อีกครั้งในปี ค.ศ.2008 ช่วงวิกฤตการเงิน หรือ Financial Crisis โดยช่วงนั้น ผู้คนจำนวนมากต่างก็แสวงหานักโหราศาสตร์ เพื่อมาทำนายอนาคตของพวกเขา
“ในช่วงนั้น สิ่งที่ผู้คนเคยพึ่งพาเริ่มพังทลายลง นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ทำให้พวกเขาเข้าสู่การดูดวง เพื่อหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของตัวเอง” รีเบกกา กอร์ดอน (Rebecca Gordon) ให้สัมภาษณ์ถึงช่วงเวลาในปี ค.ศ.2008 กับ The New Yorker
และอย่างช่วงวิกฤตโรคระบาด COVID-19 ที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ก็เช่นกัน ที่ความเอาแน่เอานอนของสถานการณ์ ส่งผลให้คนทั้งโลกวิตกกังวลกับหน้าที่การงานและสุขภาพของตัวเองอย่างหนัก ซึ่งก็ได้ทำให้นักโหราศาสตร์ทั่วโลก ง่วนกับการทำนายว่าวิกฤตนี้จะผ่านพ้นไปตอนไหน