ทำไมเราจึงฝันความฝันเกิดจากอะไร

ทำไมเราจึงฝันความฝันเกิดจากอะไร ความฝันคือภาพหลอนที่เกิดขึ้นระหว่างการนอนหลับบางช่วง หลายคนอาจไม่รู้ว่ามนุษย์เราฝันตลอดทั้งคืน และอาจฝันได้ถึง 4-6 รอบต่อคืน จากข้อมูลของ National Sleep Foundation แต่ก็ไม่แปลกที่เราจะไม่รู้ เพราะส่วนใหญ่เรามักจะลืมมันไปเกือบทั้งหมด ซึ่งความฝันที่เราจำได้บ่อยที่สุดมักจะเกิดขึ้นในวงจรการนอนหลับช่วงระยะหลับฝันหรือ REM Sleep

REM Sleep คือวงจรการนอนหลับในช่วงที่กล้ามเนื้อต่างๆ หยุดทำงานหมด ยกเว้นหัวใจ กระบังลม กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ ซึ่งจะเป็นช่วงที่เรามักจะฝันเป็นเรื่องเป็นราวมากที่สุด และมักจำได้เพราะระยะหลับฝันมักเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายตอนเช้ามืด หรือตอนที่เราใกล้จะตื่นนั่นเอง

ความฝันเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุผล ไม่เหมือนกับความคิด เพราะมันเกิดจากสมองในส่วนที่เป็นศูนย์กลางทางอารมณ์ ไม่ได้เกิดจากส่วนที่ทำงานด้านตรรกะ แม้จะยังไม่มีข้อพิสูจน์แน่ชัดว่าฝันมาจากอะไรกันแน่ แต่จากงานวิจัยพบว่า 65% ของความฝันมักเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราในตอนตื่น เช่น กิจกรรมล่าสุดที่ทำหรือคิดก่อนเข้านอน บทสนทนาที่พูดคุย หรือประเด็นที่เกิดขึ้นในชีวิตช่วงนั้นๆ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องดีหรือแย่ก็ได้ การที่เราฝันร้ายจึงมักเกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวล

มีความเชื่อและทฤษฎีอยู่แพร่หลายว่าความฝันเป็นสิ่งจำเป็นของทุกคน เช่น ฝันอาจเป็นนักบำบัดส่วนตัวของเรา ฝันอาจเป็นวิธีฝึกต่อสู้เพื่อรับมือกับภัยคุกคาม ฝันเป็นแรงบันดาลใจให้เราปิ๊งไอเดียสร้างสรรค์ หรือฝันอาจเป็นเครื่องช่วยจำและกำจัดความทรงจำที่ไม่สำคัญให้เราอีกต่างหาก

วกกลับมาที่สุขภาพ ว่าทำไมเราถึงต้องสนใจความฝัน เพราะสิ่งที่มีอิทธิพลมากที่สุดอย่างหนึ่งต่อความฝันคือเรานอนมากหรือน้อยแค่ไหน การอดนอนเป็นเวลา 1-2 คืนหรือมากกว่านั้น สามารถทำให้สมองทำงานหนักขึ้นเมื่อเราเข้าสู่ REM sleep และมีแนวโน้มที่เราจะฝัน นอกจากปัญหาการนอนหลับ ฝันที่รุนแรงยังเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงเมื่อตั้งครรภ์ หรือเกี่ยวข้องกับการใช้ยาบางชนิดได้ด้วย

แล้วฝันแต่ละแบบของคุณ บ่งบอกปัญหาสุขภาพอะไรได้บ้าง

1. ฝันทั่วไป (Standard Dream)
ลักษณะ : ฝันถึงเรื่องทั่วไป ดีบ้าง แย่บ้าง แต่ไม่ถึงกับฝันร้าย

จริงๆ แล้วไม่มีมาตรฐานว่าอะไรคือฝันทั่วไป ส่วนใหญ่จะเน้นภาพมากกว่ากลิ่นหรือสัมผัส เป็นสีมากกว่าขาวดำ อาจจะแปลกประหลาด แต่ไม่ถึงกับเป็นฝันร้าย และยังเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ถ้าฝันแบบนี้แปลว่าคุณยังฝันแบบคนทั่วไป มักมาจากสิ่งที่คิดหรือกังวลอยู่ ยิ่งฝันดีเท่าไหร่ ยิ่งตีความได้ว่าคุณมีความเครียดน้อยเท่านั้น แต่ถ้าฝันไม่ค่อยดีนักก็อาจบอกได้อารมณ์คุณไม่ค่อยจะดี เจอเหตุการณ์ความเจ็บปวดหรือความรุนแรงอะไรมา แต่โดยรวม มันคือการจัดการอารมณ์ของสมองคุณ ถ้าไม่มีปัญหาอะไรกับการนอนหลับ แปลว่าสุขภาพของคุณยังถือว่าโอเคนะ

2. ฝันร้าย (Nightmare)
ลักษณะ : ฝันว่าถูกไล่ล่า ฝันว่าตกจากที่สูง หลงทาง ติดกับดัก ฯลฯ

ตบบ่าเบาๆ แล้วบอกว่าจริงๆ แล้วคนทุกวัยล้วนฝันร้าย มันเป็นเรื่องธรรมดา ฝันร้ายที่เกิดกับเด็กคือส่วนหนึ่งของพัฒนาการตามปกติ ส่วนผู้ใหญ่ที่ฝันร้ายก็ยังไม่ใช่อาการของโรคหรือความผิดปกติทางจิต แต่เป็นได้ว่ามาจากการเสพสื่อที่น่ากลัว การกินของว่างก่อนนอน เจ็บป่วยมีไข้ ความเครียดหรือวิตกกังวล และการใช้ยาบางชนิด รวมไปถึงแอลกอฮอล์และสารเสพติด

ฤทธิ์ของฝันร้ายคือตื่นมาแล้วก็อาจจะยังรู้สึกโกรธ เศร้า กลัว วิตกกังวล หรือรู้สึกผิดอยู่ได้ แต่ไม่นานก็หายไป ยกเว้นว่าคุณมีแนวโน้มว่าเป็นโรคเครียดจากบาดแผลทางใจ (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) หรือเป็นโรคที่เกี่ยวกับความวิตกกังวล ก็อาจส่งผลให้มีปัญหากับการนอนหลับได้ เมื่อไหร่ที่ฝันร้ายเริ่มรบกวนการนอนหลับของคุณ แนะนำให้ไปหาหมอเพื่อวินิจฉัยจะดีกว่า

3. ฝันผวา (Night Terror)
ลักษณะ : ฝันสยองจนเผลอกรีดร้อง หวาดกลัว สะดุ้งตื่นกลางดึก

ฝันร้ายไม่อาจทำให้เราตื่น แต่ ‘ฝันผวา’ จะทำให้เราหวาดกลัวกว่านั้นจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึกแบบรู้ตัว เผลอขยับตัวไปมา หรือตะโกนอะไรออกมาแบบไม่รู้ตัวได้ด้วยเช่นกัน ฝันผวาแบบนี้มักเกิดขึ้นในช่วง NREM sleep เป็นตอนที่เรายังไม่ตื่นแต่ก็ยังไม่ได้หลับสนิท ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบอกว่ามันอาจเกี่ยวข้องกับสุขภาพได้ในหลายแง่

● ภาวะสุขภาพจิตขั้นพื้นฐาน เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล หรือโรคไบโพลาร์
● มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจระหว่างนอน
● ปัจจัยอื่นๆ เช่น อดนอน โรคขาอยู่ไม่สุข เป็นไข้หรือเจ็บป่วย หรือผลจากการใช้ยา สารเสพติด แอลกอฮอล์

จริงๆ แล้วการฝันผวา ไม่ได้จำเป็นต้องรักษาเสมอไป แต่ถ้ามันทำให้คู่นอนทนไม่ไหว หรือตื่นมาแล้วเหนื่อยล้าจนทำสิ่งอื่นไม่ได้ ลองเริ่มเยียวยาง่ายๆ จากการสร้างนิสัยนอนดี จัดตารางการนอนหลับที่สม่ำเสมอ เพื่อให้นอนเพียงพอแบบเป็นประจำ แต่ถ้าลงมือทำเองแล้วยังรบกวนชีวิต ลองปรึกษานักบำบัดน่าจะเป็นทางออกที่ดีกับคุณและคู่นอน เพราะเขาจะมีเครื่องมือที่ช่วยคุณได้

4. ฝันร้ายซ้ำๆ ซากๆ (Recurring Nightmare)
ลักษณะ : ฝันร้ายแบบซ้ำๆ วนเวียนกับเรื่องเดิมๆ ความรู้สึกเดิมๆ

ถ้าฝันร้ายนานๆ ทีหรือเป็นครั้งคราว อาจไม่บ่งบอกปัญหาสุขภาพมากเท่าฝันร้ายที่มาแบบซ้ำๆ ซากๆ ซึ่งในฝันอาจจะเป็นคนละเรื่องราวกันก็ได้ในแต่ละคืน แต่มักมีธีมเดิมๆ หรือก่อให้เกิดความรู้สึกคล้ายๆ เดิมเมื่อตื่นขึ้นมา สาเหตุของการฝันร้ายซ้ำๆ ที่แพทย์พบบ่อยคือ

ความเครียด วิตกกังวล หรือซึมเศร้า จนต้องระบายออกมาในฝันซ้ำๆ
โรคเครียดจากบาดแผลทางใจ (post-traumatic stress disorder หรือ PTSD) ความบอบช้ำในวัยเด็กหรือประสบการณ์ฝังใจ ซึ่งทำให้เกิดการฝันร้ายซ้ำซากในผู้ใหญ่ ถ้าปล่อยไว้นานจะยิ่งมีผลต่ออาการซึมเศร้า
ภาวะความผิดปกติระหว่างการนอนหลับ เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อัมพาตจากการนอนหลับ เป็นต้น
ปัจจัยอื่นๆ เช่น การใช้ยา และสารเสพติด
ทางแก้เบื้องต้น คุณอาจลองสร้างนิสัยการนอนที่ดี อยู่ห่างจากอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์ก่อนนอน หลีกเลี่ยงบุหรี่ แอลกอฮอล์ และสารเสพติด ฝึกหายใจลึกๆ ถ้ามันแย่มากการเล่าให้ใครสักคนฟังหรือจดบันทึกออกมาอาจช่วยได้ แต่ถ้าฝันร้ายซ้ำซากเริ่มทำการนอนหลับและสุขภาพของคุณพัง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษาก่อนที่ฝันร้ายๆ มันจะเรื้อรังในใจนะ

5. ฝันติดตา (Vivid Dream)
ลักษณะ : ฝันแจ่มชัด ตื่นมาแทนที่จะลืม กลับจำได้แม่นยำ

ฝันติดตา บางคนก็เรียกมันว่าฝันที่สดใส เพราะมันเป็นฝันที่เราตื่นขึ้นมาแล้วยังจำได้แจ่มชัดและยังรุนแรงอยู่ในความทรงจำเมื่อตื่น ซึ่งอาจจะเป็นฝันที่ดีหรือฝันร้ายก็ได้ เป็นเรื่องจริงหรือเพ้อฝันก็ได้ ฝันติดตาอาจมาจากความเครียดและความวิตกกังวลที่กระทบกระเทือนจิตใจ เรื่องใหญ่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในชีวิต เช่น กำลังจะแต่งงาน ซื้อบ้าน ฯลฯ ความผิดปกติของการนอนหลับ การเปลี่ยนแปลงเวลานอน การใช้ยาและสารเสพติด ภาวะของคนตั้งครรภ์ช่วงแรก

ฝันติดตาอาจไม่ทำร้ายคุณเลยก็ได้ แต่ถ้ามันเป็นฝันร้ายติดตาที่ส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการแย่ๆ ต่อสุขภาพ เช่น ง่วงนอนเวลากลางวัน เสียสมาธิในการใช้ชีวิต มีความทุกข์ในอารมณ์ ทำให้คุณไม่อยากเข้านอน หรือทำให้รู้สึกอยากฆ่าตัวตาย ก็ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อให้ช่วยรักษาทันควัน และค่อยๆ ปรับเปลี่ยนวิถีการนอนให้กลับมาเป็นปกติ การทำสมาธิและการบำบัดด้วยจินตภาพอาจช่วยได้เช่นกัน

6. ฝันแบบรู้ตัวว่าฝัน (Lucid Dream)
ลักษณะ : ฝันซ้อนฝัน รู้ตัวว่ากำลังฝัน คิดและรู้สึกได้ บางคนควบคุมตัวเองในฝันได้ด้วย

ไม่ใช่ทุกคนที่จะฝันแบบลูซิดหรือตระหนักรู้ถึงความฝันของตัวเองได้ แต่มีหลายๆ คนคิดค้นวิธีการฝึกฝนให้เราควบคุมฝันประเภทนี้ได้ เพื่อนำมามันมาใช้ประโยชน์ เช่น ลองขยายช่วงเวลาการนอนหลับแบบ REM sleep ให้ยาวนานขึ้น ตื่นมาจดบันทึกความฝันไว้ให้มากที่สุด ฝึกทดสอบความเป็นจริงตอนฝัน ฯลฯ

ประโยชน์ของฝันแบบลูซิดคือ ถ้าเราควบคุมตัวเองในฝันแบบนี้ได้ อาจใช้เป็นศาสตร์ในการบำบัดฝันร้าย หรือเอาชนะความวิตกกังวลของตัวเอง โดยจะเน้นการฝึกให้ตัวเองรู้ตัวว่ากำลังฝันอยู่ หรือบางคนที่ล้ำกว่านั้น อาจเข้าไปในความฝันตัวเองเพื่อช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์หรือจินตนาการ ซึ่งการบังคับฝันปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปทางวิทยาศาสตร์และการแพทย์ที่แน่ชัด และไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต เพราะอาจทำให้แยกแยะความจริงและฝันไม่ออกกว่าเดิม ดังนั้นถ้าใครคิดจะควบคุมฝันประเภทนี้ แนะนำให้หาข้อมูลและปรึกษาผู้เชี่ยวชาญดีกว่าลงมือทำเองนะ