ความฝันคืออะไร? แล้วทำไมเราถึงฝัน? ความฝันเกิดจากการที่สมองส่วนต่างๆ ถูกกระตุ้น ให้ส่งผ่านชุดความจำเข้ามาในหัวเราขณะที่เรากำลังหลับอยู่ โดยบ่อยครั้งที่ภาพความฝันเสมือนจริงที่เราเห็นขณะหลับนั้นเกิดขึ้นได้โดยถูกผสมผสานและปรุงแต่งเรื่องราวตามประสบการณ์ที่แต่ละคนนึกคิดและพบเจอ
ความฝันนับว่าเป็นสิ่งที่มหัศจรรย์และแปลกพิลึกกึกกือมากในคราวเดียวกัน บ่อยครั้งที่เรามักจะฝันอะไรโดยที่ไม่สามารถจับต้นชนปลายได้เลยว่าเหตุใดเราจึงฝันแบบนั้น หรือเหตุใดเราจึงฝันถึงใครบางคนที่ในความเป็นจริงแล้วเราจะลืมเขาคนนั้นไปนานแล้วก็เป็นได้
ความฝันบางทีก็กลายเป็นเหมือนการฉายภาพยนตร์สั้นในหัวของเราที่แม้บางครั้งเราจะลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำหรือลุกขึ้นมากินน้ำแต่เมื่อไปหลับต่อมันก็ยังฉายเล่นต่อจากจุดเดิมที่ยังค้างเอาไว้ได้อย่างน่าประหลาดใจ
ซึ่งไม่ใช่แค่คนยุคเราหรือคนยุคพ่อแม่ปู่ย่าตายายเราเท่านั้นหรอกที่เพิ่งจะมาตระหนักคิดว่าความฝันนั้นเป็นสิ่งที่น่ามหัศจรรย์เพราะในอดีตย้อนกลับไปหลาย 1000 ปีแล้วชาวกรีกและชาวโรมันก็เชื่อกันว่าความฝันเป็นลางบอกเหตุถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ และในบางทีก็เชื่อกันว่าความฝันนั้นสามารถเอามาพยากรณ์สิ่งที่จะเป็นไปของบ้านเมืองได้ถ้ามันเกิดขึ้นกับบุคคลที่เป็นคนใหญ่คนโตของบ้านเมือง
แท้จริงแล้วความฝันมีความซับซ้อนเป็นอย่างมาก
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็นบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ ซึ่งศึกษาการทำงานของระบบประสาทและความคิดของมนุษย์เพื่อประโยชน์ทางด้านการแพทย์มองว่า ‘ความฝันคือการแสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกและแรงปรารถนาบางอย่างที่ถูกกดทับและเก็บซ่อนเอาไว้ข้างในจิตใจลึกๆ ของผู้คน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะผูกโยงอยู่กับเรื่องทางเพศเป็นหลัก’ เช่น เราอาจจะเคยฝันถึงหญิงสาวหรือชายหนุ่มในอุดมคติที่อยากจะมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งด้วย แต่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในโลกของความเป็นจริง เพราะอาจมีข้อจำกัดในเรื่องต่างๆ อยู่
คาร์ล ยัง จิตแพทย์ชาวสวิตเซอร์แลนด์ มองว่า ‘ความฝันคือพลังงานที่มีรูปร่างแบบหนึ่งที่เกี่ยวพันกับจิตใต้สำนึก บ่อยครั้งที่ความฝันของคนเราคือภาพสะท้อนของสิ่งต่างๆ ที่เราพบเห็นและรู้สึกนึกคิดในแต่ละวัน เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่สมองจะมีการประมวลผลและคิดถึงสิ่งต่างๆ’ โดยมีความเชื่อทางวิทยาศาสตร์อยู่ความเชื่อหนึ่งว่า ความฝันนั้นคือการลบความทรงจำที่ไม่จำเป็นออกจากหัวของเราไปจากหน่วยความทรงจำระยะยาว
ซึ่งเคยมีการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ประเทศเยอรมันเพื่อพยายามหาความเชื่อมโยงระหว่างความฝันและการทำงานของสมองโดยได้ทำการทดลองกับหนูที่ถูกวางยาให้สลบ และพบว่าสมองที่ควบคุมความลึกคิดขั้นสูง (Neocortex) จะทำงานได้ดีเป็นพิเศษขณะการนอนหลับ ทำให้บ่อยครั้งในความฝันของเราเรามักจะเห็นภาพของสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเห็นหรือเห็นภาพที่หลายๆครั้งเราอาจจะลืมมันไปแล้วด้วยซ้ำก็เป็นได้ ซึ่งภาพดังกล่าวก็จะถูกผสมผสานกับประสบการณ์หรือความนึกคิดบางอย่างของเราจึงเป็นที่มาของการเห็นภาพแปลกๆ หรือการนำตัวเองเข้าไปอยู่ในฉากของหนังนั่นเอง
ส่วนการที่เราตื่นขึ้นมาแล้วหลับต่อแต่ความฝันยังเป็นเรื่องเดิมก็เกิดจากการที่สมองยังนำประสบการณ์ล่าสุดของเรามาใช้ต่อนั่นเอง ซึ่งก็หมายถึงประสบการณ์ที่เป็นประสบการณ์เสมือนจริงที่สมองของเราสร้างขึ้นมาอีกทีนึงนั่นแหละ
นอกจากนี้การที่เรานอนหลับแล้วฝันนั้นก็เท่ากับว่าเซลล์และสมองของเราก็ยังทำงานอยู่ด้วย บ่อยครั้งเราจึงพบว่าถ้าเราฝันเป็นเรื่องเป็นราวหรือฝันอะไรที่ตื่นเต้นลุ้นระทึกรเรามักจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับความเหนื่อยล้าจากการที่สมองของเราไม่ได้พักผ่อนเลยตลอดคืนนั่นเอง