ทราบหรือไม่ว่า ทำไมคนเราเวลานอนหลับถึงฝันได้ ตามปกติแล้วมนุษย์เราทุกคนอาจจะนอน 6-8 ชั่วโมงต่อวัน และใช้เวลาในการ “ฝัน” เฉลี่ยในแต่ละคืนราว 2 ชั่วโมง อาจจะมีทั้งฝันดีจนไม่อยากตื่น ฝันร้ายจนตื่นมาพร้อมกับเหงื่อที่แตกพลั่กไปทั่วร่างกาย หรือฝันที่เนื้อเรื่องมั่วซั่วจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
“ไม่ฝัน” แปลว่า “นอนหลับสนิท” ?
จริงๆ แล้วมนุษย์เราฝันขณะนอนหลับทุกคืน ย้ำว่าทุกคืน เพียงแต่ในหลายๆ คืนคุณอาจจะจำไม่ได้ว่าฝัน ฝันไหนที่เราจำได้ คือฝันที่เราตื่นในขณะที่เรากำลังฝันไปกลางเรื่อง อาจจะเป็นช่วงที่เพิ่งเข้านอนได้ไม่นาน ช่วงกลางดึก หรือช่วงกำลังจะรุ่งเช้า หากคืนไหนที่เรารู้สึกว่าเราไม่ได้ฝันเลย อาจเป็นเพราะเรานอนหลับ ๆ ตื่น ๆ ไม่ได้นอนหลับยาว ๆ จนทำให้เกิดความฝันมากกว่า
ทำไมเราถึง “ฝัน” ?
การนอนหลับของคนเรามักจะฝันอยู่เสมอ เป็นกระบวนการทางสมองที่ทำงานขณะนอนหลับ ใน 1 คืนเราไม่ได้ฝันแค่เรื่องเดียว โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคืนเราอาจฝันได้มากถึง 4-5 เรื่อง แต่เรามักจะจำความฝันได้ไม่หมดทุกเรื่อง มักจะจำเรื่องสุดท้ายที่ฝันได้เพราะเป็นช่วยใกล้จะตื่นมากที่สุด บางคนฝันเป็นภาพสี บางคนอาจฝันเป็นภาพขาวดำ โดยทฤษฎีแล้วไม่ได้มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด
สาเหตุที่เราฝันยังไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน แต่ความฝันไม่ได้มีขึ้นมาเฉย ๆ เพราะการที่เราฝันขณะนอนหลับเป็นการช่วยปลอบประโลมจิตใจราวกับได้ทำการบำบัดจิตด้วยตัวเองอย่างที่เราคาดไม่ถึง
ข้อดีของความฝัน
นอกจากความฝันตามความเชื่อทางไสยศาสตร์จะให้คำทำนายต่าง ๆ นานา ได้แล้ว ทางวิทยาศาสตร์เอง ความฝันก็มีประโยชน์ต่อเราเช่นกัน เราสามารถฝันได้ตั้งแต่เรื่องไร้สาระที่เกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเราในตอนนั้น ไปจนถึงเรื่องที่เราหวาดกลัว หรือกังวลในอดีต รวมไปถึงความทรงจำอันเลวร้าย สถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง แต่เราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะพบกับสิ่งเหล่านั้น การที่เราฝันถึงสิ่งแย่ ๆ เหล่านี้เป็นกระบวนการทางสมองที่อยากบำบัดจิตใจของเราเองให้คุ้นชิน และยอมรับกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือสิ่งที่เราหวาดกลัว เมื่อเราเปิดใจยอมรับกับสิ่งเหล่านั้นในความฝัน จิตใต้สำนึกของเราก็จะเริ่มค่อย ๆ ปรับตัว และรู้สึกหวาดกลัว หรือรู้สึกแย่ต่อเรื่องราวเหล่านั้นน้อยลงได้ ราวกับเราได้เล่าเรื่องที่เรากังวลใจให้กับจิตแพทย์ฟัง ดังนั้นจึงเรียกได้ว่า ความฝัน สามารถลดอาการของโรคซึมเศร้าได้
ในขณะเดียวกันหากเราพยายามหลีกเลี่ยงที่จะไม่พบไม่เจอไม่เห็นเรื่องราวเหล่านั้นแม้กระทั่งในฝัน เราก็อาจจะต้องพบกับเรื่องแย่ ๆ เหล่านั้นในความฝันไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น คุณอาจต้องเผชิญกับภาวะฝันร้ายซ้ำ ๆ เพราะคุณยังคงไม่สามารถปล่อยวางจากเรื่องนั้น ๆ ได้ ดังนั้นหากคุณสามารถเผชิญกับสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญในความฝันได้ คุณอาจสามารถปลดล็อกตัวเองจากสิ่งที่เรากังวล หรือความทรงจำที่เป็นบาดแผลในจิตใจลึก ๆ ของคุณได้จากการฝัน
แม้ว่าฝันร้ายก็สามารถส่งผลดีต่อจิตใจของเราได้ แต่ถ้าเลือกได้หลายคนคงอยากมีฝันดีมากกว่า ปัจจัยที่จะทำให้เราฝันดีไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เพียงแต่มีปัจจัยเสริมบางอย่างที่อาจส่งผลกระทบต่อความฝันในค่ำคืนนั้น ๆ ได้ นั้นคือสภาพจิตใจ และความรู้สึกนึกคิดของเราเองก่อนเข้านอน ใครที่เข้านอนหลังจากได้ดู หรือได้ฟังเรื่องราวดี ๆ ก็จะมีโอกาสนอนหลับฝันดีมากกว่าคนที่ครุ่นคิดแต่เรื่องร้าย ๆ เครียด ๆ แม้กระทั่งสิ่งที่เกิดขึ้น คำที่พูด คนที่คุยด้วย เรื่องที่คุยกันระหว่างวัน ก็อาจจะมาโผล่ในความฝันของเราในค่ำคืนนั้นได้เช่นกัน